Custom Search

Search This Blog

Thursday, February 28, 2013

วันนี้หุ้นเซรามิกฮอต! UMI มูลค่าซื้อขายทะลัก RCI ดีดแรงสุด

(ข้อมูลจากข่าวหุ้นธุรกิจ)
วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:30:12 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ราคาหุ้นกลุ่มเซรามิกซื้อขายคึกคัก โดยมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI ล่าสุด ณ เวลา 16.08 น. อยู่ที่ 38.75 บาท บวก 5.75 บาท หรือ 17.42% มูลค่าการซื้อขาย 2,647.12 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI อยู่ที่ 7.50 บาท บวก 0.80 บาท หรือ 11.94% มูลค่าการซื้อขาย 2,205.63 ล้านบาท ขณะที่บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI ปรับตัวขึ้นแรงสุดในวันนี้ โดยล่าสุดอยู่ที่ 6.55 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 29.70% มูลค่าการซื้อขาย 581.41 ล้านบาท ซึ่งในเชิงเทคนิคราคาหุ้นทั้ง 3 ตัวเข้าเขตซื้อมากเกินไปจากการเก็งกำไรผลประกอบการที่ฟื้นตัวและเงินปันผล
นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI เปิดเผยในวันนี้ (28 ก.พ.) ว่า ผลประกอบการในไตรมาส 4/2555 ว่า บริษัทมีรายได้เฉพาะกิจการรวม 710 ล้านบาท เติบโต19% จากไตรมาส 4/2555 และมีกำไรสุทธิ 39.6 ล้านบาท เติบโต 67% จากไตรมาส 4/2554 ส่งผลให้รายได้รวมทั้งปี 2555 อยู่ที่ 2,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 % และมีกำไรสุทธิ 170.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากปี 2554
ขณะที่มติคณะกรรมการอนุมัติการจ่ายปันผลประจำปี 2555 โดยจ่ายเป็น 4 หุ้นเดิม ต่อ 3 หุ้นปันผลใหม่ คิดเป็น 0.75 บาทต่อหุ้น และจ่ายเป็นเงินสดปันผล 0.12 บาทต่อหุ้น รวมเป็นทั้งหมด 0.87 บาทต่อหุ้น ซึ่งนับเป็นการจ่ายปันผลที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างรอนำเสนอเพื่อขออนุมัติผู้ถือหุ้น
ส่วนของแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2556 ทางบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมของบริษัทไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท โดยจะมุ่งมั่นเป็นผู้นำนวัตกรรมการผลิตกระเบื้องกึ่ง 3 มิติ หรือ Full HD Tiles อย่างเต็มตัว โดยในปี 2556 จะมีการพัฒนาทั้งในส่วนของลวดลายที่จะมีความสมจริง และขนาดที่จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และยังจะเป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิครายแรก ที่ผลิตกระเบื้องบุผนัง ด้วยระบบ Full HD อีกด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างทั่วถึง และคาดว่าจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำตลาดกระเบื้องกึ่ง 3 มิติ อย่างเต็มตัว ภายในปี 2556
นอกจากนี้ นางสาวปวีณา ยังกล่าวอีกว่า จากการรวมตัวกันระหว่าง 3 บริษัทกระเบื้องชั้นนำ ได้แก่ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI, บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI และบริษัท ที.ที เซรามิค จำกัด (TTC) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องพอร์ซเลนส์ แบรนด์ Cergres ที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในประเทศ จะส่งผลให้ UMI Group มีกำลังการผลิตมากถึง 34 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อปี ซึ่งจะทำให้กลุ่มสามารถผลิตสินค้าตอบสนองต่อความต้องการของตลาด อย่างทั่วถึง และมุ่งมั่นเติบโตร่วมกันอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ว่า ปัจจัยหนุนราคาหุ้น UMI จะมาจาก (1) คาดอัตราการเติบโตกำไรฯของ UMI สดใสกว่ากลุ่ม โดยคาดอัตราการเติบโตกำไรปี 2012-14F เฉลี่ย 40% เทียบ DCC ที่โตเฉลี่ย 6.9% (2) ผลการดำเนินงานปี 2013-14F มีแนวโน้มเติบโตสูง ตามผลประกอบการที่พลิกฟื้นเร็วกว่าคาดของ RCI และจาก TTC ที่ UMI ซื้อกิจการเข้ามาเมื่อปี 2012 แต่ให้ราคาพื้นฐานไว้ที่ 13.40 บาท



KMC หวังรายได้ปีนี้ 1.5 พันลบ.-ผุดเปิด 4 โครงการ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15:46:30 น. 
(ข้อมูลจากข่าวหุ้นธุรกิจ)

นายวิรัตน์ เอี้ยวอักษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 1.5 พันล้านบาท หลังเปิด 4 โครงการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการปรับโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทระดมทุนได้ประมาณ 2.1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และมีศักยภาพ โดยจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนมีแผนนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ 4 โครงการ ได้แก่ การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทวิทูรธนากร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียม Classe อยู่ในทำเล ถ.พระราม 9 มีโครงการอาคารสูง 8 ชั้น ที่สร้างเสร็จพร้อมขายจำนวน 4 ตึก รวมพื้นที่ทั้งหมด 1.7 หมื่นตารางเมตร โดยมีมูลค่าขายในทันทีในปีนี้ประมาณ 1.1 พันล้านบาท
ขณะที่ บริษัทเตรียมปรับแบรนด์เป็น The Kris Extra Rama9 และเปิดขายในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ อีกทั้งยังมีที่ดินเปล่า พร้อมใบอนุญาตสร้างอาคารสูง 8 ชั้นอีก 4 ตึก ที่บริษัทเตรียมนำมาพัฒนาต่อ โดยจะเริ่มทยอยก่อสร้างในปีหน้า และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมขายในปี 58 มีมูลค่าโครงการประมาณ 1.5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนในโครงการที่เกาะล้านที่ต้องใช้เงินค่าซื้อสิทธิ์ประมาณ 290 ล้านบาท และค่าพัฒนาโครงการที่ต้องใช้เงินทุนในส่วนของบริษัทอีกประมาณ 500 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่ หาดใหญ่ และภูเก็ต โดยต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะสามารถรองรับการเติบโตได้ใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยผู้ถือหุ้นไม่ต้องกังวลการเพิ่มทุนอีก นอกจากนี้ หลังจากลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสมแล้ว บริษัทก็จะจ่ายเงินปันผลได้ในอนาคต



UMI เตรียมปันผลเป็นหุ้น 4:3 พร้อมเงินสดหุ้นละ 0.12 บ. จ่าย 28 พ.ค. 2556

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10:21:33 น. 
(ข้อมูลจากข่าวหุ้นธุรกิจ)

บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI ประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 55 โดยแบ่งเป็นจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 4 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นปันผล และจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.12 บาทต่อหุ้น  โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ไม่ได้รับสิทธิปันผล ในวันที่ 7 พ.ค. 2556 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 พ.ค. 2556


Friday, February 22, 2013

SC ออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3 พันลบ.แตกพาร์เป็นหุ้นละ 1 บ.

(ข้อมูลจากข่าวหุ้นธุรกิจ)
วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 18:07:08 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC เปิดเผยว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี เพื่อเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป หรือนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) หรือนักลงทุนสถาบันในประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังอนุมัติให้เพิ่มวงเงินการออกตั๋วแลกเงินอีก 1.5 พัน ล้านบาท รวมเป็นวงเงินตั๋วแลกเงิน 3 พันล้านบาท มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 270 วัน เพื่อ เสนอขายแบบ PP ต่อนักลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินไปใช้ ในการดำเนินงาน และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
คณะกรรมการ SC ยังอนุมัติให้บริษัทเปลี่ยนแปลง มูลค่าพาร์จากปัจจุบันที่หุ้นละ 5 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท พร้อมทั้งให้จ่ายเงินปันผล สำหรับผลประกอบการงวดปี 55 ใน อัตราหุ้นละ 0.787 บาท โดยจ่ายเป็นหุ้นปันผล ในอัตราส่วน 8 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล และจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.162 บาท บริษัทจะประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 23 เม.ย.56


Friday, February 15, 2013

ประชา มาลีนนท์พร้อมซื้อหุ้นเพิ่มทุน N-PARK เพื่อสิทธิโหวตเสียง


สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 16:15:59 น.

นายประชา มาลีนนท์  หนึ่งในผู้ที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนล่าสุดของบมจ.แนเชอรัล พาร์ค(N-PARK)  เปิดเผยว่า เหตุผลที่ตนเองเข้าไปลงทุนใน N-PARK ในสัดส่วน 24.50% ของทุนจดทะเบียน หรือจำนวน 2.95 หมื่นล้านหุ้น เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการทำธุรกิจ ประกอบกับ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจครอบครัวที่ได้ดำเนินธุรกิจมาอยู่แล้ว รวมทั้งต้องการขยายการลงทุน

อย่างไรก็ตาม นายประชา กล่าวว่า จะใช้เงินลงทุนเข้าซื้อหุ้น N-PARK จำนวน 900 ล้านบาท ซึ่ง N-Park  จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน มี.ค. และคาดว่าจะชำระเงินค่าหุ้นภายในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ตาม ทาง N-PARK ได้มีการขยายวงเงินเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งหากมีการใช้สิทธิไม่หมด ตนเองพร้อมเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อต้องการมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หลังการเพิ่มทุนแล้วเสร็จคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน ทาง N-PARK  จะเปิด 2 โครงการใหม่ ที่พระราม 4 และโคราช คาดจะเปิดโครงการในต้นปี 57 ส่วนโครงการร้อยชักสาม ที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุที่ N-PARK ชนะประมูล และบริหารโรงแรมระดับหรู นายประชา เห็นว่า โครงการของบริษัทที่มีอยู่ก็ควรเดินหน้าต่อไป
"ที่ผมเช้าไปซื้อ N-PARK เพราะมีคนมาเสนอขาย และเห็นศักยภาพที่มีอยู่ ยังมีอีกหลายโครงการเตรียมที่จะเปิด และยังมีที่ดินอยู่อีก หลังระดมทุน น่าจะเริ่มโครงการ อย่างน้อย 2 โครงการ ... หลังกระบวนการซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จ จะส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการก่อน คงยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงการบริหาร ผู้บริหารเดิมยังมีฝีมืออยู่" นายประชา กล่าว
อนึ่ง คณะกรรมการบริษัทจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือจากการจองจำนวน 5.35 หมื่นล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 44.43% ในราคาหุ้นละ 0.029  บาท คือนายประชา มาลีนนท์ สัดส่วน 24.50% นายศานติ ประนิช สัดส่วน 9.96% และนายฟิลิปวีระ บุนนาค 9.96% และจะขายหุ้นเพิ่มทนุให้ผู้ถือหุ้นเดิม 60,212,570,294 หุ้น อัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคา 0.029 บาท โดยกำหนดวันประชุมในวันที่ 18 มี.ค. 56 เวลา 9.00 น.




Wednesday, February 13, 2013

N-PARK เผย SCB ยินยอมประนอมหนี้เหลือ 30 ลบ.แลกถอนฟ้องคดี


สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 13:09:17 น.

นายนคร ลักษณกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK)  แจ้งว่า ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นโจทก์ที่ได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว ได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ในคดีแพ่ง (คดีหมายเลขดำที่ ย.5345/2540) ที่ได้ยื่นฟ้องบริษัทเป็นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อวันที่ 26 ธนวาคม 2540 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในมูลหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 87.80 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ยกคดีในส่วนของบริษัทขึ้นพิจารณาใหม่ กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 และนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น

บริษัทได้ดำเนินการเจรจากับ SCB เพื่อหาข้อยุติในคดีดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 13/2555 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 จึงได้มีมติให้บริษัททำบันทึกข้อตกลงในการชำระหนี้กับ SCB โดยบริษัทจะชำระเงินจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อให้ไทยพาณิชย์ถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ย.5345/2540 ให้แก่บริษัท โดยบริษัทได้ดำเนินการชำระหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 และในวันนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ไทยพาณิชย์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว



Thursday, February 7, 2013

N-PARK เพิ่มทุน 6 หมื่นล้านหุ้นขายให้ผถห.เดิม 2:1 ในราคา 0.029 บ.


สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 09:21:43 น.

นายนคร ลักษณกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 53.5 ล้านหุ้น ให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (Private Placement)  ให้แก่ นายประชา มาลีนนท์ ประธานกรรมการ, ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการผู้จัดการ บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำนวน 29.5 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 24.50 ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว  นายศานติ ประนิช  12 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 9.96 และนายฟิลิปวีระ บุนนาค 12 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 9.96  ซึ่งเป็นไปคำขอของนักลงทุน ในราคาหุ้นละ 0.029 บาท

และกำหนดให้บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้นดังกล่าวจะต้องชำระเงินค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใน 15 วันนับจากวันที่บริษัทได้แจ้งและส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหลักฐานให้บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้นทราบว่า บริษัทได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร สินเอเชีย แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้นดังกล่าวจะต้องชำระเงินค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บริษัทให้เสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 25 เมษายน 2556
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า  เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จะได้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 0.029 บาท เช่นเดียวกับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง และบริษัทก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินเพิ่มทุนเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยการออกหุ้นสามัญใหม่เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม(Right Issue) ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.029 บาท ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่  โดยการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 436,699,412 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 120,861,840,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียน 120,425,140,588 บาท โดยวิธีการตัดหุ้นสามัญจดทะเบียนที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่ายจำนวน 436,699,412 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวม 436,699,412 บาท
และเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 60,212,570,294 บาท จากทุนจดทะเบียนจำนวน 120,425,140,588 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 180,637,710,882 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 60,212,570,294 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จัดสรรและ เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ (ในกรณีมีเศษหุ้นให้ปัดทิ้ง) ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.029
การเพิ่มทุนจดทะเบียนและการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Issue ) จะเกิดขึ้น ภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 1/2556 ได้มีมติอนุมัติการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 53.5 ล้านหุ้น ให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง  และนักลงทุนเฉพาะเจาะจงได้ชำระเงินค่าหุ้นที่เสนอขายครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว
กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 1/2556 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 และให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 1/2556 ในวันที่ 18 มีนาคม 2556